วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

แสนสุข หลังเกษียณ (Enjoy retirement)

แสนสุข หลังเกษียณ (Enjoy retirement)

คัดลอกจากหนังสือ แสนสุข หลังเกษียณ (Enjoy retirement)
เรียบเรียงโดย ดร.ธีรทร วัฒนกูล
บริษัท SE-EDUCATION PUBLIC COMPANY LIMITED

หนังสือเล่มนี้ เป็นงานเรียบเรียงเนื้อหาเกี่ยวกับผู้เกษียณอายุงาน สำหรับนำไปใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสนุกและมีความสุข เป็นงานเขียนของเจเน็ต บัตเวลล์ ชาวอังกฤษ โดยได้รวบรวมความรู้จากประสบการณ์ ความชำนาญ และแนวคิดต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ผู้อ่านมั่นใจในช่วงเวลาของการเกษียณ
หนังสือเล่มนี้ ไม่เพียงให้ผู้เกษียณอายุงานได้อ่านเท่านั้น ยังจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่กำลังจะเกษียณอายุงานด้วย เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตภายหลังจากที่ได้เกษียณอายุงานแล้ว
ดร.ธีรทร วัฒนกูล

เนื่องจากเนื้อหาในหนังสือมีหลายแนวทาง แยกเป็นแต่ละหัวข้อ จึงขอคัดลอกเฉพาะที่เห็นว่าน่าจะนำไปปฏิบัติได้ มานำเสนอให้อ่านประกอบเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตทั้งผู้ที่กำลังจะเกษียณและผู้ที่เกษียณแล้ว ต่อไป
นายยุทธนา จุฑารัตน์
1.           เล่าถึงวันดีๆ ในอดีต
คุณจะสังเกตได้ว่า คนบางคนที่เกษียณออกจากงานแล้ว ยังพูดไม่จบเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมา นั่นก็เพราะว่าคนเหล่านั้น ยังไม่มีปัจจุบัน
มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่จะพูดถึงอดีต เพราะบางคนอาจสนใจและต้องการได้ยินในเรื่องเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมาของผู้เกษียณ เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณก็ควรเขียนหนังสือเล่าสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับความคิดของคุณ ประสบการณ์ของคุณ เกี่ยวกับงานในอดีตที่ผ่านมา หลังจากที่คุณไม่ได้ทำงานนั้นแล้ว
ไอเดียของผู้เรียบเรียง (ดร.ธีรทร วัฒนกูล)
เมื่อเกษียณอายุ หลังจากการทำงานมามากกว่า 30 หรือ 40 ปี ประสบการณ์ในอดีตของผู้เกษียณ ในตำแหน่งหน้าที่แต่ละระดับ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขับรถ พนักงานส่งหนังสือ ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงของแต่ละองค์กร ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่องค์กรและผู้เกษียณอย่างมาก ดังนั้น ทุกองค์กรควรให้ผู้เกษียณเขียนเล่าเรื่องในอดีตที่ภาคภูมิใจ และเรื่องที่องค์กรยังมีข้อบกพร่องและควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข เพื่อจะได้นำข้อมูลเหล่านั้น มาพัฒนากระบวนการทำงานในปัจจุบัน ให้ดีขึ้น
2.           เมื่อคุณเพิ่งออกจากงาน
ไม่ว่าคุณและคู่สมรส จะยังคงทำงานอยู่หรือไม่ก็ตาม เมื่อคุณต้องเกษียณออกจากงานมาอยู่บ้านด้วยกัน ก็ต้องปรับปรุงตัวเองให้อยู่กันได้อย่างมีความสุข
การอยู่บ้านด้วยกันของสามีภรรยาที่เกษียณออกจากงานแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการปรับตัวเองใน 3 เรื่อง คือ
1.           การทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นงานที่ได้ออกกำลังกายไปด้วย
2.           การหางานอดิเรกทำด้วยกันทั้งสองฝ่าย และเป็นสิ่งที่ทั้งคู่ชื่นชอบ ก็จะเป็นสิ่งดี
3.           การมีชีวิตอยู่ในสังคม ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก ถ้าคู่สามีภรรยาที่ต้องเกษียณจากงานพร้อมกัน จะต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่
ไอเดียของผู้เรียบเรียง (ดร.ธีรทร วัฒนกูล)
การเตรียมความพร้อมก่อนถึงวันเกษียณอายุ เป็นเรื่องที่คุณและคู่สมรสต้องมีการวางแผนรองรับ ในเรื่องงานบ้าน งานอดิเรก และการดำเนินชีวิตในสังคม โดยเฉพาะหากต้องเกษียณพร้อมกัน มิฉะนั้นจะทำให้เกิดภาวะหดหู่ใจ จากคนเคยมีอำนาจหน้าที่ใหญ่โต มีผู้คนยกย่อง และมีรายได้จำนวนสูงเข้ามาทุกเดือน ต้องหมดสิ้นไป
การดำเนินชีวิตในสังคม ไม่ควรหลีกเลี่ยงงานสังคมทุกอย่างโดยสิ้นเชิง ควรเลือกงานที่สามารถไปร่วมได้และไม่มีภาระค่าใช้จ่ายมากนัก เช่น งานพบปะเพื่อนร่วมรุ่น งานเพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินชีวิตในสังคมไม่เบื่อหน่ายไปวันๆ
3.           อย่าใช้จ่ายแบบคนรวย
ถ้าคุณเป็นคนชอบใช้จ่ายเงิน หรือใช้จ่ายเงินมากกว่ารายได้เสมอ คุณอาจไม่สามารถที่จะ จัดการกับเงินบำนาญของคุณได้ ดังนั้น หลังเกษียณมีวิธีเดียวที่คุณควรทำ คือ การจัดสรรงบประมาณการใช้จ่าย
ไอเดียของผู้เรียบเรียง (ดร.ธีรทร วัฒนกูล)
ก่อนถึงวันเกษียณอายุ อย่างน้อย 6 เดือน ผู้เกษียณควรพยายามที่จะใช้ชีวิตอย่างประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย และพยายามใช้จ่ายเงินไม่ให้เกินกว่าเงินบำนาญที่จะได้รับในแต่ละเดือน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ฝึกการใช้ชีวิตแบบพอเพียง ใช้จ่ายเงินอย่างพอประมาณ อย่าใช้จ่ายเงินแบบคนรวย  เช่น การเดินทางโดยรถประจำทาง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และใช้รถยนต์ส่วนตัว เมื่อมีความจำเป็น เป็นต้น
4.           ทัศนคติของคนในสังคม
คุณลองมองดูรอบๆ ตัวคุณ ว่า สังคมปฏิบัติกับคนเกษียณอย่างไร หลายคนต้องการให้คนในสังคมมีทัศนคติที่ดีกับคนเกษียณ
โดยปกติแล้ว ทุกคนควรที่จะปฏิบัติกับผู้สูงอายุอย่างเท่าเทียมเหมือนกับคนอื่นๆ ในสังคม อย่าใช้คำพูดที่ไม่ดี หรือคำพูดในลักษณะที่เป็นการตำหนิว่า เขาเป็นคนแก่ความจำไม่ค่อยดี และอย่านึกคิดว่าผู้สูงอายุไม่มีความสามารถในการดำเนินชีวิตเหมือนคนทั่วไป เพราะถ้าคิดเช่นนั้น คุณก็จะเห็นเป็นเรื่องแปลกเสมอเมื่อพบกับผู้สูงอายุ
ไอเดียของผู้เรียบเรียง (ดร.ธีรทร วัฒนกูล)
ในประเทศไทยผู้เกษียณที่เป็นผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น คนทุกคนในสังคมต้องช่วยกันรับผิดชอบ เพราะสักวันหนึ่ง ทุกคนก็ต้องกลายเป็นผู้สูงอายุด้วยกันทั้งสิ้น
นอกจากนี้ สังคมควรร่วมกันส่งเสริมศักยภาพของผู้สูงอายุให้มากที่สุด โดย
1.           ให้ผู้สูงอายุ พึ่งตนเองได้ หรือคงภาวะสุขภาพที่ดีและแข็งแรงตลอดไป
2.           ให้ผู้สูงอายุ มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสังคม เท่าที่จะทำได้
3.           สร้างหลักประกันและความมั่นคงในชีวิตให้ผู้สูงอายุตามอัตภาพ โดยรัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ
5.           อย่าเครียด
เป็นความจริงที่ว่า การพักผ่อนทำให้คลายเครียด ประโยชน์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเกษียณที่แน่นอนก็คือ คุณจะมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น และลดความเครียดอันเกิดจากการทำงาน ความเครียดมันจะทำให้คุณเจ็บป่วยได้ง่าย เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า การมีชีวิตโดยมีความเครียดมาก จะทำให้มีระดับความดันโลหิตสูงอย่างถาวร  
ไอเดียของผู้เรียบเรียง (ดร.ธีรทร วัฒนกูล)
ความเครียดเป็นอันตรายกับคนทุกคน เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบอันเลวร้ายให้เกิดขึ้นกับสภาพทางด้านร่างกายและจิตใจ อย่างไม่คาดคิดทีเดียว คุณต้องหัดสังเกตตัวคุณเองบ้าง ถ้ารู้สึกตัวว่าคุณกำลังวิตกกังวลหรือตื่นตกใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำให้เกิดความทุกข์ใจเหมือนกับมืดแปดด้าน หาทางออกไม่ได้ คุณก็ควรที่จะพยายามค้นหาสาเหตุที่ทำให้เครียด แล้วค้นให้ลึกลงไปจนถึงแก่นของมัน แล้วถามตัวคุณเองว่า คุณมีความสามารถที่จะแก้ไขเรื่องนั้นได้หรือไม่ หรือจำเป็นต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำก็ควรทำ เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุดสามารถบรรเทาหรือจัดการกับความเครียดได้สิ้นซาก
6.           การบริหารร่างกาย
คุณอาจไม่เข้าใจความหมายของการออกกำลังกาย เพราะมันอาจทำให้คุณอาย แต่คุณควรออกกำลังกายได้แล้ว เพื่อสุขภาพของคุณ
คุณอาจประหลาดใจว่า ทำไมคนเราต้องเดินทุกวัน ก็เพื่อให้ร่างกายได้ทำงานนั่นเอง
ผู้เกษียณควรออกกำลังกายทุกวัน โดยการวิ่งเหยาะๆ หรือเดินเร็วและเดินช้า สลับกันไป จะทำให้ร่างกายไม่มีไขมัน และมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง 
ไอเดียของผู้เรียบเรียง (ดร.ธีรทร วัฒนกูล)
การบริหารร่างกายของคนเกษียณที่ดีที่สุดคือ การเดิน โดยในระยะแรกควรเดินในระยะทางสั้นๆ เมื่อเหนื่อยแล้วก็หยุด และในวันต่อๆ ไป ควรเพิ่มระยะทางการเดินให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกานปรับสภาพ ทำให้หัวใจ หลอดเลือดและกล้ามเนื้อ ทำงานดีขึ้น

7.           ร่วมกิจกรรมของชุมชน
ผู้เกษียณแล้วควรมีเวลาเข้าไปร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนบ้าง อาจมีการรวมกลุ่มกันประดิษฐ์งานหัตถกรรมต่างๆ มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนใหม่ๆ บ้าง
บางทีคุณอาจได้เล่นกีฬาที่ชอบ หรือร่วมกิจกรรมทางศาสนาในวันสำคัญต่างๆ ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม จะทำให้คุณไม่เหงาและไม่รู้สึกว่าอยู่คนเดียว
ไอเดียของผู้เรียบเรียง (ดร.ธีรทร วัฒนกูล)
การร่วมกิจกรรมของชุมชนหรือการติดต่อสังคมกับคนอื่นถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะได้มีการศึกษาวิจัยพบว่า คนที่ชอบติดต่อหรือมีกิจกรรมทางสังคมร่วมกับผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น จะอายุยืนและสุขภาพดีกว่าคนที่ปิดประตูขังตัวเอง ทั้งนี้ ก็เพราะว่าคนที่ทำดีต่อผู้อื่น ย่อมได้รับความรักความนับถือจากผู้อื่น และผู้ทำก็ย่อมปีติสุข นอกจากนี้ แพทย์ยังพบว่า สมองมีการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมานั่นเอง สารนี้มีฤทธิ์ทำให้จิตใจสงบ คลายความเจ็บปวด ทำให้รู้สึกเป็นสุขอย่างประหลาด และช่วยให้ร่างกายปลอดพ้นจากความเครียด รวมทั้งทำให้ภูมิต้านทานโรคในร่างกายเข้มแข็งมากขึ้น
8.           อย่าอยู่อย่างเดียวดาย
ไม่มีอะไรเศร้ามากไปกว่า การใช้ชีวิตอยู่อย่างเดียวดาย อย่างน้อยที่สุดก็ควรมีเพื่อนสักคนหนึ่งเพื่อจะได้พูดคุยกัน และก็ควรสร้างเพื่อนใหม่ให้เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม คุณจะไม่มีเพื่อน ถ้าคุณไม่พร้อมที่จะทำในสิ่งต่อไปนี้
ประการที่หนึ่งและสำคัญที่สุด คือ คุณอาจไม่มีใครสนใจอยากจะรู้จัก ถ้าคุณไม่พยายามให้ความสนใจบุคคลอื่น และคุณไม่เคยเอ่ยปากถามหรือพูดคุยกับคนที่คุณคุ้นเคยในเรื่องต่างๆ อาทิ เรื่องที่มีคนกำลังให้ความสนใจ เรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน หรือถามเรื่องงานอดิเรก เป็นต้น
ประการที่สอง เมื่อร่วมสนทนากับคนอื่น คุณต้องพูดซ้ำซาก และคุณควรค้นหาบางสิ่งบางอย่างซึ่งทำให้คุณสนุกสนานกับการทำสิ่งนั้น เช่น กิจกรรมชุมชนของคุณ กิจกรรมในโบสถ์ กิจกรรมอาสาสมัครการกุศล เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะนำคุณเข้าไปในสิ่งแวดล้อมใหม่ และได้พบกับเพื่อนใหม่ด้วย
ไอเดียของผู้เรียบเรียง (ดร.ธีรทร วัฒนกูล)
เมื่อคุณเกษียณแล้ว ไม่ควรใช้ชีวิตอยู่อย่างเดียวดาย ควรเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในท้องถิ่น หรืออาจไปลงทะเบียนเรียนหลักสูตรระยะสั้นที่คุณสนใจในมหาวิทยาลัยเปิด จะได้มีเพื่อนใหม่และไม่ทำให้เบื่อหน่ายชีวิต การอยู่อย่างเดียวดาย ไม่ดี ดังสุภาษิตชาวไอริชว่า “ทะเลาะกัน ก็ยังดีกว่าอยู่เดียวดาย”
9.           จัดการกับความเครียด
การเกษียณไม่ได้ทำให้ความเครียดหมดไป มันจะนำความเครียดใหม่มาให้คุณ ดังนั้น เมื่อคุณมีความเครียด คุณต้องหาทางจัดการกับมันให้ได้
คุณจะรู้ได้อย่างไรว่ามีความเครียด สิ่งเหล่านี้จะช่วยบ่งชี้ให้คุณรู้อย่างง่ายๆ
Ø ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
Ø ปวดท้อง
Ø ระบบย่อยอาหารมีปัญหา
Ø นอนไม่หลับ
Ø รับประทานอาหาร มากหรือน้อย กว่าปกติ
Ø ปวดศีรษะ โกรธง่าย
Ø เศร้าซึม มีความทุกข์และกังวลใจ
อย่าปล่อยให้ความเครียดเกิดขึ้นจนสายเกินไปที่จะแก้ไข ต้องรีบกำจัดออกไป ซึ่งให้คุณลองพยายามทำตามเทคนิคเหล่านี้ดู
vนั่งสมาธิ ออกกำลังกาย ไปเที่ยว ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ทำงานอดิเรก ที่ช่วยให้จิตใจเพลิดเพลิน
vเมื่อมีความเครียด ให้พยายามลืมเรื่องนั้นให้ได้ ควรจดเรื่องที่ทำให้เครียด เพื่อนำมาทบทวนและหาทางแก้ไขต่อไป
vการหยุดพักไปท่องเที่ยวหลายๆ วัน ก็อาจช่วยให้ลืมเรื่องต่างๆ ได้
vคุณอาจแก้ความเครียดแบบง่ายๆ โดยเข้าห้องน้ำปิดประตู แล้วนั่งลงปิดตา 5 นาที ทำวันละ 5 ครั้งใน 1 สัปดาห์ ต่อมาใช้วิธีเดิน 10 นาทีทุกวัน หลังจากนั้นก็ใช้ร่วมกันทั้งนั่งและเดิน ครึ่งชั่วโมงทุกวัน
ไอเดียของผู้เรียบเรียง (ดร.ธีรทร วัฒนกูล)
มีหลายอย่างที่น่าสนใจในการขจัดความเครียด คุณลองนำไปปฏิบัติดู

  • ฝึกหายใจ โดยนั่งเอนหลังบนเก้าอี้ในท่าสบายๆ สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ และหายใจออก ช้าๆ
  • นวดฝ่าเท้า ใช้นิ้วหัวแม่มือกดลงบนฝ่าเท้าแล้วนวดคลึงเบาๆ เพื่อคลายเส้นที่ปวดตึง โดยไล่จากส้นเท้าไปจนถึงปุ่มโคนหัวแม่เท้าแล้วจึงค่อยนวดวนออกไปด้านนอกฝ่าเท้า
  • ดื่มน้ำ ให้คุณดื่มน้ำเปล่าเย็นๆ สักแก้ว ก็จะรู้สึกสดชื่นผ่อนคลายได้
  • กลิ่นหอม น้ำมันหอมระเหยที่มีสารสกัดจากพืช สามารถช่วยคลายเครียดได้ ใช้น้ำหอมนวดคลึงเบาๆ บริเวณขมับ จะรู้สึกปลอดโปร่งขึ้น
  • ขจัดความเมื่อยขบให้ลำตัว โดยการบิดลำตัวไปมา ก้มลง เงยขึ้น เป็นการบริหารร่างกายให้เส้นสายคลายตัว
  • อย่าแบกเรื่องความทุกข์ไว้คนเดียว ควรมองโลกในแง่ดี ติดต่อเพื่อนฝูงญาติมิตรไว้บ้าง อย่าหมกตัวอยู่คนเดียว เพราจะยิ่งทำให้สุขภาพจิตเสื่อม เป็นคนคับแคบ ต้องพยายามทำตัวให้เป็นคนที่มีความสุขและมีอารมย์ขันอยู่เสมอ
10.  ฝึกสมองทุกวัน
คุณต้องดูแลสมองให้เฉียบคมและกระตือรือร้นจนถึงวันตาย สมองคนเราจะเสื่อมไปตามอายุ กล่าวคือ เซลล์สมองจะค่อยๆ ตายไป คุณสามารถรักษาสติปัญญาและเซลล์สมองให้ทำงานได้ดี เช่น เล่นเกมอักษรไขว้ เกมทายปัญหา เกมการจับอวัยวะของร่างกายตามเสียงเพลง เป็นต้น เพื่อกระตุ้นสมองให้ทำงานอยู่เสมอ
การรักษาสติปัญญาให้ดี คุณต้องรักษาสมองโดยการสร้างรูปแบบความคิดใหม่ๆ ทุกวัน ต้องพยายามทำสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เปลี่ยนเส้นทางการเดินไปไหนๆ ใหม่ อ่านชีวประวัติบุคคลสำคัญ ไปดูงานแสดงภาพถ่าย เป็นต้น
ไอเดียของผู้เรียบเรียง (ดร.ธีรทร วัฒนกูล)
นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามศึกษา เพื่อหาวิธีให้สมองเสื่อมช้าที่สุด จึงพบวิธีช่วยให้สมองได้บริหารและได้ออกกำลัง เพื่อไม่ให้สมองเสื่อมเร็วเกินไป แม้จะอายุมากขึ้น

  1. เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน ควรอ่านหนังสือมากๆ แต่ต้องระวังอย่าใช้งานสมองนานเกินไป ควรมีเวลาพักให้ผ่อนคลายด้วย
  2. ควรอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาหลากหลาย เพื่อให้สมองได้พัฒนาหลายด้าน
  3. ฝึกตนให้ทำงานอดิเรกอยู่เสมอ ฝึกเป็นคนอยากรู้อยากเห็น ช่างสงสัย เพื่อสร้างพลังสมองให้คล่องแคล่ว อยู่เสมอ
  4. การพักผ่อน นอนหลับอย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง และต้องหลับสนิท ร่างกายและสมองจะได้ผ่อนคลาย
  5. วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ให้เคลื่อนไหวนิ้วมืออยู่เสมอ ด้วยวิธีใดก็ได้ เพราะนิ้วมือมีเส้นประสาทมากมาย จึงเท่ากับได้บริหารสมองไปด้วย
  6. จิบน้ำบ่อยๆ สมองคนเราประกอบด้วยน้ำ 85 เปอร์เซ็นต์ การจิบน้ำบ่อยๆ จะช่วยให้เซลล์สมองมีน้ำหล่อเลี้ยง ไม่เหี่ยวเฉา
  7. หลังจากตื่นนอนแล้ว ให้ตั้งสติและนั่งสมาธิทุกเช้าวันละ 12 นาที เพื่อให้สมองเข้าสู่ช่วงที่มีคลื่น Theta ซึ่งเป็นคลื่นที่ผ่อนคลายสุดๆ ถ้าทำตอนเช้าไม่ได้ ก็ให้ทำก่อนนอนทุกวัน
11.  รู้จักแก้ปัญหา
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่หลายคนมองข้าม คือ คุณต้องรับประทานอาหารตามเวลา มิฉะนั้นจะมีปัญหาตามมามากมาย ซึ่งเป็นตัวอย่างของปัญหาที่เห็นได้ชัด และมักเกิดกับหลายๆ คน การแก้ปัญหาง่ายๆ คือ คุณต้องรับประทานอาหารตรงเวลา และที่สำคัญ คือ อาหารมื้อเช้า ไม่ควรเว้น
คนเราไม่ว่าจะเก่งขนาดไหน ก็จะมีข้อจำกัดที่จะจัดการกับปัญหาทั้งหลายให้เสร็จสิ้นได้เพียงครั้งเดียว
ถ้าคุณเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติ ก่อนที่จะแก้ปัญหา คุณต้องเข้าใจปัญหาที่แท้จริง ปัญหาใดที่สำคัญและจำเป็น คุณต้องรีบจัดการก่อนเป็นลำดับแรก คุณไม่ควร ผัดวันประกันพรุ่งในการแก้ไขปัญหา เพราะคุณจะเครียดเมื่อปัญหานั้นกลับมาอีก
ไอเดียของผู้เรียบเรียง (ดร.ธีรทร วัฒนกูล)
ปัญหาเป็นสิ่งที่ท้าทายให้คุณแก้ปัญหานั้น จะมีกระบวนการแก้ไขปัญหา คือ

  • การพิจารณาให้รู้ถึงปัญหาที่แท้จริงก่อนว่า คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงเกิดขึ้น
  • พิจารณาทางเลือกต่างๆ ในการแก้ปัญหา โดยพยายามหาทางเลือกหลายๆ ทาง มาประกอบการพิจารณาแก้ปัญหา
  • วิเคราะห์ทางเลือกต่างๆ โดยพิจารณาผลได้ ผลเสีย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ปัญหานั้นอย่างรอบคอบ เพื่อวิเคราะห์ว่า จะมีปัญหาใหม่ตามมาอีกหรือไม่
  • เปรียบเทียบทางเลือกต่างๆ ที่วิเคราะห์แล้วนั้น ว่าทางเลือกใดเกิดประโยชนที่สุด
  • เลือกทางเลือกนั้นมาใช้ในการแก้ปัญหา
12.  ดูแลและห่วงใยสุขภาพ
เมื่อคุณอายุมากขึ้น ร่างกายจะอ่อนแอเจ็บไข้ได้ป่วยง่าย หากคุณดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง แม้อายุมาก สุขภาพก็ยังแข็งแรงได้ ซึ่งในแต่ละวันคุณควรออกกำลังกาย รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ทานผักและผลไม้ ดื่มน้ำมากๆ พบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตามปกติ
การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก เหมือนรถยนต์ที่ต้องตรวจสภาพอยู่เสมอทุกระยะที่ผ่านการใช้งานตลอดมา
ถ้าคุณยังอยู่ในช่วงก่อนเกษียณ สถานที่ทำงานจัดให้มีการตรวจสุขภาพ คุณก็ควรตรวจสุขภาพก่อนออกจากงาน เพื่อป้องกันโรคภัยที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องจากอายุที่มากขึ้น ถ้าตรวจพบจะได้รักษาให้หายเสียก่อนที่จะเกษียณ ซึ่งจะช่วยให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย
อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เกษียณไม่ควรลืม คือ ต้องไปพบทันตแพทย์และจักษุแพทย์ ให้ตรวจตาและฟันของคุณ เพื่อป้องกันโรคมะเร็งในช่องปากและโรคต้อหิน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่คุณไม่ควรละเลย
ไอเดียของผู้เรียบเรียง (ดร.ธีรทร วัฒนกูล)
การออกกำลังกายสำหรับผู้เกษียณที่ดีและมีประโยชน์ คือ การเดิน ไม่ว่าจะเดินช้าหรือเร็ว เพราะการเดินจะทำให้ลดโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถลดหรือควบคุมน้ำหนักได้ ช่วยป้องกันและรักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคกระดูกพรุน เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ป้องกันการเกิดมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน เป็นต้น
การห่วงใยสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เกษียณต้องให้ความสำคัญ และควรตรวจสุขภาพประจำปีโดยแพทย์ที่เชี่ยวชาญทุกปี และสิ่งสำคัญที่ไม่ควรให้เกิดกับคุณ คือ โรคอ้วน เพราะจะทำให้คุณมีโรคอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย การรับประทานอาหารไม่ถูกต้อง อาจทำให้คุณเป็นโรคต่างๆ จนถึงแก่ความตายได้ ดังสุภาษิตของอังกฤษ ที่ว่า “อย่าขุดหลุมฝังตัวเอง ด้วยช้อนและส้อม”
13.  ไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นทำอะไร
การที่คุณผ่านวันเกิดมาแล้วหลายครั้ง ไม่ได้หมายความว่า ความคิดอันฉลาดหลักแหลมของคุณจะหมดสิ้นไปด้วย อันที่จริงมันเพียงแต่ ทำให้คุณขาดความเป็นหนุ่มสาวและร่างกายอาจแข็งแรงน้อยลง ซึ่งคุณสามารถทำตัวคุณให้มีความกระตือรือร้นได้ และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา จะทำให้คุณมีความคิดสร้างสรรค์ในบางเรื่องได้
เมื่อคุณเกษียณแล้ว คุณมีเวลามากมายที่จะทำอะไรตามที่เคยวาดหวังไว้ หรือใช้จินตนาการเพื่อสร้างสรรค์ในสิ่งที่อยากจะทำ ซึ่งจินตนาการในการสร้างสรรค์ ก็คือ สิ่งสำคัญที่มาจากหัวใจของคุณ เป็นสิ่งที่คุณมีความประทับใจและภาคภูมิใจกับมันอย่างมาก
ไอเดียของผู้เรียบเรียง (ดร.ธีรทร วัฒนกูล)
เมื่อเกษียณแล้วอย่าคิดว่าคุณอายุมากเกินไปที่จะทำอะไรได้ ควรคิดว่าคุณจะเลือกทำอะไรที่ดีที่สุด ข้อสำคัญ คุณอย่าทำในเรื่องที่คุณไม่มีความรู้ ไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นโดยเด็ดขาด และก่อนจะทำอะไรต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ ศึกษาจุดแข็ง จุดอ่อน ตลอดจนโอกาสและอุปสรรค ของงานนั้น ให้ถ่องแท้ก่อน แล้วคุณก็จะภาคภูมิใจในความสำเร็จที่คุณได้รับ
“กองหินที่ไม่ใช้แล้ว เป็นโอกาสให้คุณได้พิจารณาเพื่อ ทำกองหินนั้น ให้เป็นโบสถ์ขนาดใหญ่” (นิยามไอเดีย อองตวน เดอ แชง-เตกซูเปรี)
14.  ชีวิตหลังความตาย
ความตายของคนที่คุณรักที่สุด เป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งคุณจะต้องเกี่ยวข้องกับมัน และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว คุณก็ต้องทำให้ชีวิตกลับมาสู่สภาพเดิมให้ได้โดยตัวของคุณเอง ทางที่ดีที่สุด คุณต้องยอมรับในสิ่งที่สูญเสียไปแล้วว่า ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้
               เรื่องความตายเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้จักกันดี แต่การสูญเสียคนที่คุณรักทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนแปลง คนอื่นอาจไม่เข้าใจอย่างแท้จริง จนกว่าเขาจะมีประสบการณ์ด้วยตัวเขาเอง
ในวันที่ทำพิธีศพของคนที่คุณรัก จะเป็นวันที่โศกเศร้ามาก แต่อย่างน้อยที่สุด คุณก็ได้ทำในสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนที่คุณรัก ซึ่งอาจเป็นประสบการณ์ที่คุณไม่อยากจะจดจำ แต่หลังจากนั้น คุณต้องพยายามทำอะไรให้คุณคลายความโศกเศร้าลงไปให้ได้ คุณอย่ารู้สึกผิดหรือทุกข์ใจเกี่ยวกับผู้ตายอีก เพราะชีวิตคุณยังต้องดำเนินต่อไป คู่รักของคุณและคนใกล้ชิดก็ไม่ต้องการให้คุณเป็นเช่นนั้น
ไอเดียของผู้เรียบเรียง (ดร.ธีรทร วัฒนกูล)
การทำพิธีศพเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจัดทำให้แก่ผู้ตาย ในแต่ละศาสนาจะมีพิธีการที่แตกต่างกันไป ซึ่งไม่ควรใช้เวลาในการทำพิธีศพให้นานออกไปหลายๆ วัน พราะจะทำให้คุณมีความรู้สึกโศกเศร้ายาวนานไปด้วย คุณควรจะทำใจให้คลายจากความโศกเศร้าโดยเร็ว และเริ่มต้นชีวิตใหม่ต่อไป

เหตุสมควรโกรธไม่มีในโลก

ขอขอบคุณ ภาพจาก มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1372475172&grpid=00&catid=&subcatid=

เมื่อตอนพระอาจารย์มิตซูโอะ ได้ลาสิกขาใหม่นั้น ให้อัศจรรย์ใจเป็นที่ยิ่ง เพราะโดยส่วนตัวแล้วชอบธรรมะที่ท่านเคยเทศนา และจำไว้ประจำใจคือ เหตุสมควรโกรธไม่มีในโลก 
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2556 มีข่าวท่านลาสิกขาแล้ว ได้อ่านข่าวและรู้สึกธรรมดา แต่มีคนให้ความเห็นมากมายทั้งทางดีและไม่ดี
อึ้ง-พระอาจารย์มิตซูโอะ-คเวสโก-สึกแล้ว-หลวงพ่อมิตซูโอะ-ลาสิขาแล้ว อันนี้ตอนสึกใหม่ ต่อมาเป็น ข่าวเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. หลังลาสิกขา  3 วัน ต่อมา มีเหตุการณ์ต่อเนื่องว่าสึกไปแต่งงาน แล้วกระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็ตามมา เช่น อันนี้พระพยอมให้ความเห็น อันนี้เป็นเรื่องราวจากวัด
อันนี้เป็นเรื่องการจดทะเบียน และลายมือ ทิดมิตซูโอะ  อันนี้เป็นข่าวต่อเนื่องหลังจดทะเบียนสมรส ข่าวต่างๆ คลิกตาม link ไปดูเองนะครับ นี่ผมยังไม่ได้ link ที่มีความเสียหายด่าทอหนักๆมาด้วย ถ้าต้องการโปรดหาเองนะครับ
พอสรุปได้ว่าเหตุการณ์ที่มีนั้นคือ ทิดมิตซูโอะ ลาสิกขา เพื่อไปสมรสกับคุณแอน โดยจดทะเบียนสมรสที่บ้านทิดมิตซูโอะ โดยทิดให้เหตุผลว่า เป็นคู่บารมี จากเหตุการณ์นั้นเนื่องจากทิดเป็นพระอาจารย์ดังสั่งสอนธรรมะ มีสำนักสอนปฏิบัติและงานเขียนมากมาย ทำให้สังคมออกมาพูดถึง
ในเรื่องที่มา เหตุผล เราทุกคนไม่รู้ได้ และความรู้เช่นนั้นมีประโยชน์กับเราหรือไม่ เราในที่นี้คือคนต่างๆ ในสังคม  เหตุการณ์นี้ก็เป็นเพียงข่าวสารหนึ่ง พระพุทธองค์ให้พระสูตรที่มีประโยชน์กับเราไว้สูตรหนึ่ง ชื่อ เกสปุตตสูตร หรือที่เรารู้จักว่า กาลามสูตร ความส่วนหนึ่งว่า ดังนี้


เกสปุตตสูต (จาก http://84000.org ขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้)
...
ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรกาลามชนทั้งหลายมาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินว่าอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดยตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตน อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา
เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้แล้วนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้
ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้น ปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกข์เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา ... มีใจประกอบด้วยมุทิตา ... มีใจประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกันตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่านที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่หาประโยชน์มิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ดูกรกาลามชนทั้งหลายอริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการในปัจจุบันว่า
ก็ถ้าปรโลกมีจริง ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วมีจริง เหตุนี้เป็นเครื่องให้เราเมื่อแตกกายตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๑ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว
ก็ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วไม่มี เราไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์เป็นสุข บริหารตนอยู่ในปัจจุบันนี้ ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๒ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว 
ก็ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ชื่อว่าทำบาป เราไม่ได้คิดความชั่วให้แก่ใครๆ ไหนเลยทุกข์จักมาถูกต้องเราผู้ไม่ได้ทำบาปกรรมเล่า ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๓ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว
ก็ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ไม่ชื่อว่าทำบาป เราก็ได้พิจารณาเห็นตนว่าเป็นคนบริสุทธิ์แล้วทั้งสองส่วน ดังนี้ความอุ่นใจข้อที่ ๔ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว 
ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่มีเศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการนี้แลในปัจจุบัน ฯ

ตรงนี้เองหากเราเห็นว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ควรน้อมนำมาปฏิบัติ สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ก็ควรละเสีย ความขวนขวายในโลกสี่ประการควรประกอบด้วยจิตตั้งมั่นคือ การละทิ้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ที่มีในตน การรักษาสิ่งที่เป็นประโยชน์ในตนให้คงอยู่ การขวนขวายหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่ตนยังไม่มีให้บังเกิดขึ้นในตน และสุดท้ายให้ระวังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ที่ตนไม่มีแต่มีในโลกต้องระวังไม่ให้เข้ามาในตน
เราทุกคนต้องเรียนรู้เองครับ

สุดท้ายส่งท้ายด้วยบทสัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล ท่านก็บวชมานานแล้วเช่นกัน
อันนี้เป็นความเห็นพระไพศาล วิสาโล เกี่ยวกับการบวชของพระไพศาลเอง

“- ประเด็นสุดท้ายแล้ว ที่เคยบอกว่าไม่เคยคิดจะบวชตลอดชีวิต วันนี้ยังคิดแบบนั้นอยู่หรือไม่

พพศ. ไม่มีอะไรแน่นอน ถ้าเลือกได้ก็อยากบวชไปตลอด แต่คนที่อยู่ในวงการพระเขาจะรู้ว่าไม่มีอะไรแน่นอน บางคนก็สึกเมื่อแก่ เหตุปัจจัยมันก็เยอะ เช่น ป่วย ไม่สบาย หรือปิ๊งใครบางคน หรือสารพัดปัญหา เซ็งชีวิตพระ มันเป็นได้ทั้งนั้น
- คิดจะบวชปฏิบัติธรรมจนหลุดพ้นจากโลกวุ่นวายบ้างไหม
พพศ. อยาก เคยคิด แต่ยังเป็นห่วงในเรื่องสังคมอยู่
- ยังตัดทางโลกไม่ได้
พพศ. ยังไม่คิดจะตัด เพราะเรายังอยากช่วยสังคมอยู่"

สำหรับผมเหตุการณ์นี้ได้นำให้ผมเห็นถึง การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ชัดเจนในใจครับ



วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บูชาครูกลอน สุนทรภู่ 227 ปี สูติกาล

พระสุนทรโวหาร(ภู่) 26 มิถุนายน 2329 -2398




ศรีศรี วิเศษศิลป์           อักษรสิ้น มาร้อยเรียง
ไพเราะเสนาะเสียง               ประดิษฐ์เพียงบูชาครู

ประนมนิ้ว ประณตน้อม ประจงนอบ         ตั้งจิตชอบ ตั้งกายมั่น ตั้งใจรู้
ด้วยศรัทธา เพียรเพ่ง ใคร่ครวญอยู่                บูชาผู้ สร้างสรรค์ กลั่นความงาม
เก้านิราศ ห้านิทาน สามภาษิต              เสภาฮิต ติดใจ คนไถ่ถาม
บทละคร สี่เห่กล่อม น้อมติดตาม                  คมความคิด คุณค่า ควรคู่คน
คือผลงาน สานอักษร สุนทรภู่                      เจ็ดสิบปี สี่เจ้า เฝ้าฝึกฝน
มีรุ่งโรจน์ ร่วงโรย และอดทน                       ถึงผจญ ดีร้าย ไม่อาทร

“หนึ่งขอฝาก ปากคำ ทำหนังสือ            ให้สืบชื่อ ชั่วฟ้า สุธาสถาน
สุนทรา อาลักษณ์ เจ้าจักรวาล                     พระทรงสาร ศรีเศวต เกศกุญชร
อนึ่งมนุษย์ อุตริ ติต่างต่าง                           แล้วเอาอย่าง เทียบคำ ทำอักษร
ให้ฟั่นเฟือน เหมือนเราสาป ในกาพย์กลอน      ต่อโอนอ่อน ออกชื่อ จึงลือชา”(ก.)

ภู่ทะนง คงตน บนทางเปลี่ยว               ถึงคดเคี้ยว เดี่ยวโดด โลดแล่นหา
ประกาศตน บนอักษร ซ่อนธรรมมา                ทุกตำรา พาพบ สบสิ่งดี

 “อย่าฟังเปล่า เอาแต่กลอน สุนทรเพราะ จงพิเคราะห์ คำเลิศ ประเสริฐศรี
เอาเป็นแบบ สอนคน พ้นราคี                       กันบัดสี ติฉิน เขานินทา”(ข.)

อักษรชี้ ทางไทย ใจสรรเสริญ              ความเพียรเกิน จิตแกร่ง อักษรกล้า
วรรณกรรม อมตะ จึงมีมา                            ศิษย์ทั่วหน้า บูชา พระสุนทร(โวหาร)

ศรีศรี พิสุทธิ์ใส            จะใส่ใจ ในคำสอน
เพียรอ่านทุกบทกลอน          สุนทร(ภู่)ท่านนิรันดร์เอย

เก้านิราศ      นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองสุพรรณ นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศพระแท่นดงรัง นิราศพระประธม นิราศเมืองเพชรบุรี
ห้านิทาน       โคบุตร พระอภัยมณี พระไชยสุริยา ลักษณวงศ์ สิงหไกรภพ
สามภาษิต    สวัสดิรักษา เพลงยาวถวายโอวาท สุภาษิตสอนหญิง
เสภา(2)        ขุนช้างขุนแผน พระราชพงศาวดาร
บทละคร(1)   อภัยนุราช
สิ่เห่กล่อม     จับระบำ กากี พระอภัยมณี โคบุตร

(ก.) นิราศพระประธม
(ข.) สุภาษิตสอนหญิง